| |
๒. ทุกขเวทนา   |  

ทุกขเวทนา เกิดขึ้นในขณะที่ทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งสัมผัสที่เป็นทุกข์ทางกาย โดยการประกอบกับทุกขสหคตกายวิญญาณจิต เรียกว่า ทุกข์กาย อันเป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี เรียกว่า อนิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ การกระทบสัมผัสที่ไม่ดี

ลักขณาทิจตุกะของทุกขเวทนา

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของทุกขเวทนา อันนับเนื่องในเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะนิฏฐะโผฏฐัพพานุภะวะนะลักขะณัง มีการเสวยโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่ดี เป็นลักษณะ หมายความว่า คุณสมบัติประจำตัวที่แสดงให้รู้ว่า เป็นสภาวะของทุกขเวทนานั้น ก็คือ การได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีซึ่งเกี่ยวเนื่องทางกาย เช่น การได้สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่หยาบกระด้าง หรือสกปรก ทำให้เกิดความระคายเคืองผิวกาย หรือเกิดอาการเหนียวเหนอะหนะ หรือทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง การได้รับแสงแดดแผดกล้าในยามกลางวัน การตรากแดดตรากลมทำให้เกิดความระคายเคืองผิวกาย เกิดอาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า การอยู่ในสถานที่มีอากาศร้อนจัด ทำให้เกิดอาการร้อนระอุ หรือได้อยู่ในสถานที่มีอากาศเย็นจัด จนเกิดอาการหนาวเหน็บ หรือการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ถูกตี ถูกทำร้ายด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นต้น ทำให้เกิดความทุกข์ทางกาย ในขณะนั้น เวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมด้วยทุกขสหคตกายวิญญาณจิต ย่อมทำหน้าที่เสวยรสชาติแห่งอนิฏฐโผฏฐัพพารมณ์ คือ การกระทบสัมผัสที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ

๒. สัมปะยุตตานัง มิลาปะนะระสัง มีการทำให้สัมปยุตตธรรม เหี่ยวแห้งลง เป็นกิจรส และ สัมปัตติรส หมายความว่า รสคือหน้าที่ของทุกขเวทนานี้ เป็นกิจรสก็ได้ เป็นสัมปัตติรสก็ได้ กิจรส หมายถึง หน้าที่ที่จะต้องกระทำของทุกขเวทนา สัมปัตติรส หมายถึง คุณสมบัติอันเกี่ยวเนื่องกับหน้าที่ สัมปัตติรสของทุกขเวทนานี้ ได้แก่ การทำให้สัมปยุตตธรรมเหี่ยวแห้งลงไป คือ ทำให้จิตเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกับตน ท้อถอยกำลังจากการรับอารมณ์นั้น และสลัดออกจากอารมณ์นั้นไป เช่น ได้ใส่เสื้อผ้าที่สกปรกแข็งกระด้าง แล้วเกิดความระคายเคืองร่างกาย หรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ถูกทำร้ายต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อจิตเจตสิก ท้อถอยจากอารมณ์และสลัดออกจากอารมณ์นั้นไป จิตใจก็พลอยมีความทุกข์ เกิดความเศร้าหมอง และเบื่อหน่ายต่อการกระทำกิจการงานต่าง ๆ นั้นไปด้วย เพราะฉะนั้น จึงทำให้ขาดความพร้อมที่จะกระทำกิจการงานต่าง ๆ และไม่สามารถทำกิจการงานได้อย่างเต็มที่ ดังนี้เป็นต้น จึงเป็นอันรู้ได้ว่า บุคคลที่กำลังได้รับอารมณ์ คือ การกระทบสัมผัสทางกายที่ไม่ดี มีความทุกข์กาย นี่แหละคือ คุณสมบัติของทุกขเวทนา ที่เรียกว่า สัมปัตติรส

๓. กายิกาพาธะปัจจุปปัฏฐานัง มีการอาพาธทางกาย เป็นผลปรากฏ หมายความว่า เมื่อบุคคลใดได้รับความทุกข์กายแล้ว จิตใจของบุคคลนั้น ก็พลอยรู้สึกห่อเหี่ยวตามไปด้วย [ยกเว้นบุคคลที่มีจิตใจมั่นคง มีความอดทนต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ดี] และทำให้บุคคลนั้น เกิดความรู้สึกอ่อนเพลียทางร่างกาย และไม่มีกำลังใจที่จะทำกิจการงานต่าง ๆ กลายเป็นบุคคลผู้มีความอาพาธทางกายตามไปด้วย นี้เป็นผลปัจจุปปัฏฐานของทุกขเวทนา ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการเสวยความรู้สึกทุกข์ทางกาย เมื่อพระโยคีบุคคลได้พิจารณาทุกขเวทนาอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ได้ว่า ในขณะที่กำลังเสวยความทุกข์ทางกายอยู่นั้น จิตใจย่อมมีความห่อเหี่ยว และทำให้ร่างกายอ่อนกำลัง ขาดความพร้อมที่จะประกอบกิจการงานต่าง ๆ ตามไปด้วย เป็นอาการปรากฏออกมาให้พิจารณาเห็นได้

๔. กายินท๎ริยะปะทัฏฐานัง มีกายปสาทเป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่ความทุกข์ทางกายจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมีกายปสาท คือ กายปสาทรูปที่เกิดจากกรรม มีความสมบูรณ์พร้อม ไม่มีความบกพร่องหรือป่วยอาพาธใด ๆ มีความพร้อมที่จะรับรู้ความทุกข์นั้นได้ เช่น ไม่เป็นอัมพฤกอัมพาต เป็นต้น ความรู้สึกทางกายไม่เสียไป แต่ถ้าบุคคลใดไม่มีความรู้สึกทางกายแล้ว แม้จะได้รับโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม ความทุกข์กายไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ความทุกข์ทางกายนี้ จึงไม่มีแก่พวกรูปพรหมทั้งหลาย เพราะพวกรูปพรหมไม่มีกายปสาทรูป ส่วนพวกอรูปพรหมนั้น ไม่มีรูปใด ๆ เกิดอยู่แล้ว จึงไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกทางกายใด ๆ ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |