| |
เปรียบเทียบรูป ๒๘ โดยขณะจิต   |  

ในบรรดารูป ๒๘ นั้น

รูปที่มีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิตหรือ ๕๑ อนุขณะจิต มี ๒๒ รูป ได้แก่ รูป ๒๒ รูป [เว้นวิญญัตติรูป ๒ และลักขณรูป ๔ ออกเสีย]

รูปที่มีอายุเท่ากับ ๑๖ ขณะจิตกับอีก ๑ อนุขณะจิต คือเท่ากับ ๔๙ อนุขณะจิต มี ๑ รูป ได้แก่ ชรตารูป

รูปที่มีอายุเท่ากับ ๑ ขณะจิตหรือ ๓ อนุขณะจิต มี ๒ รูปได้แก่วิญญัตติรูป ๒

รูปที่มีอายุเท่ากับ ๑ อนุขณะจิต มี ๓ รูป ได้แก่ อุปจยรูป สันตติรูป และอนิจจตารูป

บรรดารูปเหล่านี้ รูปบางอย่างเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิตก็มี เช่น วิญญัตติรูป ๒ เมื่อเวลาเกิดก็เกิดพร้อมกับจิตดวงนั้น เวลาดับก็ดับพร้อมกับจิตดวงนั้น เพราะวิญญัตติรูป ๒ นั้น มีจิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดขึ้นอย่างเดียว เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๒ นี้จึงต้องเป็นไปตามสภาพของจิต คือ เมื่อจิตที่เป็นตัวต้นเหตุเกิดขึ้นแล้ววิญญัตติรูป ต้องเกิดขึ้นพร้อมด้วย เมื่อจิตดับวิญญัตติรูปนั้นต้องดับไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ถ้าพระอนุรุทธาจารย์ท่านจะแสดงลักษณะของเจตสิกได้เพียง ๒ ประการ คือ เอกุปปาทะ กับ เอกนิโรธะ เท่านั้น ธรรมชาตินั้น ก็จะไม่ใช่เจตสิกจำพวกเดียว วิญญัตติรูป ๒ ก็จะรวมเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้น ท่านพระอนุรุทธาจารย์จึงแสดงลักษณะของเจตสิกเพิ่มอีก ๑ อย่าง คือ เอกาลัมพณะ หมายความว่า ธรรมชาติของเจตสิกนั้น ไม่ใช่แต่เพียงเกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิตเท่านั้น จะต้องมีอารมณ์เป็นอันเดียวกับจิตอีกด้วย เมื่อแสดงลักษณะประการที่ ๓ นี้เข้ามาแล้ว จึงเป็นอันว่า วิญญัตติรูป ๒ นั้น ย่อมเข้ามาร่วมกับธรรมชาติของเจตสิกไม่ได้ ย่อมบ่งบอกถึงสภาวะของเจตสิกจำพวกเดียวเท่านั้น เพราะธรรมดารูปธรรมทั้งหลาย เป็น อนารัมมณธรรม หมายถึง ธรรมชาติที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใด ๆ ได้เลย

ส่วนการที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์แสดงลักษณะประการที่ ๔ ที่ว่า เอกวัตถุกะ เข้ามาด้วยนั้น ก็เพื่อจะแสดงให้รู้ว่า ธรรมชาติของจิตและเจตสิกเหล่านี้ ถ้าเกิดในปัญจโวการภูมิ ก็ต้องมีที่อาศัยเกิดอย่างเดียวกัน ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนที่ว่าด้วยลักษณะประการที่ ๔ คือ เอกวัตถุกะ อนึ่ง เหตุที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์แสดงลักษณะประการที่ ๔ ไว้นั้น ไม่ได้มุ่งหมายแสดงโดยเอกันตนัย คือ นัยที่แสดงโดยแน่นอนว่าจิตและเจตสิกจะต้องอาศัยวัตถุรูปเกิดเสมอไป เพราะถ้าจิตเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในจตุโวการภูมิ คือ อรูปภูมิ ๔ ก็ไม่ต้องอาศัยวัตถุรูปใด ๆ เกิด เพราะในอรูปภูมินั้น ไม่มีรูปใด ๆ เกิดเลย จิตและเจตสิกของอรูปพรหมทั้งหลายย่อมอาศัยเพียงเหตุปัจจัย ๓ ประการเกิดขึ้น คือ อดีตกรรม อารมณ์ และอาศัยซึ่งกันและกันเองเกิดขึ้นเท่านั้น และการที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์แสดงลักษณะประการที่ ๔ ไว้ ก็ไม่ใช่เป็นการแสดงเพื่อจะห้ามธรรมอื่น ๆ ที่จะเข้ามาปะปนเกี่ยวข้องกับความหมายของเจตสิกนี้แต่อย่างใด เพราะธรรมชาติที่มีลักษณะครบองค์ทั้ง ๓ คือ เอกุปปาทะ เอกนิโรธะ เอกาลัมพณะ นั้น ก็ได้แก่ เจตสิกจำพวกเดียวเท่านั้น ส่วนจิตนั้นเกิดได้เพียงครั้งละ ๑ ดวง จะเกิดพร้อมกับจิตดวงอื่น ๆ ไม่ได้ รูปธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปดังที่กล่าวแล้ว

ส่วนนิพพาน เป็นอสังขตธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีการเกิดแล้ว ย่อมไม่มีการดับไปด้วย เพราะสิ่งที่มีการเกิดขึ้นได้ ต้องมีการแตกดับไปเป็นธรรมดาเช่นเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วคงอยู่ถาวรตลอดไป และสิ่งที่มีการเกิดขึ้นนั้น ล้วนแต่เป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นทั้งนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังขารธรรมทั้งหลายมิใช่เป็นสิ่งที่อิสระโดดเดี่ยวที่จะคงอยู่ถาวรตลอดไปได้ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและดับสลายไปในที่สุด ตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น แม้วัตถุสิ่งของบางอย่าง จะมีความคงทนแข็งแกร่ง เช่น เพชร หรือภูเขา ผืนแผ่นโลก จักรวาล เป็นต้น สามารถตั้งอยู่ได้เป็นกัปป์ก็ตาม แต่ในที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็ต้องถูกทำลายไปด้วยไฟบ้าง ด้วยน้ำบ้าง ด้วยลมบ้าง แตกสลายดับไป เมื่อได้เหตุปัจจัยใหม่ จึงก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่ เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไป เพราะฉะนั้น สังขตธรรม จึงได้ชื่อว่า ธรรมที่ไม่คงที่ ได้แก่ จิต เจตสิก และรูป สำหรับนิพพานนั้น ได้ชื่อว่า อสังขตธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่มีการเกิดดับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีความคงที่ แต่นิพพาน เป็นแต่เพียงสภาพอารมณ์ที่ปรากฏแก่จิตและเจตสิกเท่านั้น ไม่ใช่วัตถุสิ่งของหรือภพภูมิใด ๆ ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะให้กระทบสัมผัสได้ด้วยทวารทั้ง ๕ แต่เป็นสภาวธรรมที่สามารถรับรู้ได้โดยมโนทวารคือทางใจเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นิพพานจึงไม่สามารถเป็นไปพร้อมกับจิตโดยลักษณะ ๔ ประการได้ คือ ไม่ได้เกิดพร้อมกับจิต ไม่ได้ดับพร้อมกับจิต ไม่ได้รับอารมณ์อันเดียวกับจิต และไม่ได้มีที่อาศัยเกิดอันเดียวกับจิต เพราะนิพพานมีสภาพที่ตรงกันข้ามกับจิตและเจตสิกโดยสิ้นเชิง คือ นิพพานไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ ไม่มีการรับรู้อารมณ์ เพราะนิพพานไม่มีการเกิด จึงไม่ต้องมีสถานที่อาศัยเกิดแต่ประการใด

เมื่อสรุปความแล้ว สภาวธรรมของเจตสิกธรรมทั้งหลายที่บัณฑิตผู้มีปัญญา จะพึงกำหนดพิจารณารู้ได้โดยลักษณะ ๔ ประการดังกล่าวแล้ว คือ เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์อันเดียวกับจิต มีที่อาศัยเกิดอันเดียวกับจิต นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |