| |
ลักษณะพิเศษของโมหมูลจิต   |  

โมหมูลจิต เป็นสภาพนามธรรมที่เป็นสังขตธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งและเป็นไปตามสภาพของเหตุปัจจัยนั้น ๆ ด้วยเหตุนี้ โมหมูลจิตจึงมีคุณสมบัติพิเศษ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือลักขณาทิจตุกกะ ดังนี้

๑. อะญาณะลักขะโณ มีความไม่รู้ในอริยสัจเป็นต้น เป็นลักษณะ หมายความว่า เพราะความไม่รู้ในความเป็นไปของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง มีความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นต้น จึงทำให้สัตว์ทั้งหลาย เกิดความหลงใหลงมงาย มัวเมาไปในสิ่งที่ไม่มีสาระไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงด้วยอำนาจอวิชชา

๒. อารัมมะณะสะภาวัจฉาทะนะระโส มีการปกปิดสภาวะของอารมณ์ไว้ เป็นกิจ หมายความว่า อวิชชานี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมปกปิดสภาวะของอารมณ์ต่าง ๆ ไว้ไม่ให้มองเห็นสภาพความจริงของอารมณ์นั้น คือ ไม่ให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาและความเป็นอสุภะ [ของไม่สวยงาม] ของอารมณ์นั้น ๆ แต่ทำให้สัตว์มองเห็นเป็นไปตรงกันข้ามว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนและเป็นสุภะ [ของสวยงาม] ไป ด้วยอำนาจแห่งอวิชชา

๓. อันธะการะปัจจุปปัฏฐาโน มีความมืดมน เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า บัณฑิตทั้งหลายเมื่อพิจารณาด้วยปัญญาอันแยบคายแล้ว ย่อมเข้าใจสภาพของโมหะได้ว่ามีความมืดมน เพราะเป็นสภาพที่ปกปิดความจริงของอารมณ์ไว้ และเมื่อโมหะเกิดกับบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นมืดมน มองไม่เป็นความจริงของสิ่งทั้งปวง เหมือนกับบุคคลอยู่ในสถานที่อันมืดมิด

๔. อะโยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐาโน มีการไม่ไตร่ตรองพิจารณาอารมณ์นั้น ๆ โดยอุบายอันแยบคาย เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่บุคคลไม่หมั่นพิจารณาไตร่ตรองด้วยอุบายอันแยบคายอยู่เสมอ ย่อมทำให้บุคคลนั้นสั่งสมความไม่รู้ให้มากยิ่งขึ้น เหมือนดินพอกหางหมู นาน ๆ เข้า ย่อมทำให้บุคคลนั้นมีจิตใจที่มืดมิดด้วยอำนาจแห่งอวิชชา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |