| |
วิสยรูป [อารมณ์] ๗   |  

วิสยรูป หมายถึง รูปที่เป็นอารมณ์แก่จิตและเจตสิกได้ หรือรูปที่มีอำนาจในการดึงดูดจิตและเจตสิกให้มารับรู้ เพราะคำว่า วิสัย หมายถึง อำนาจ หรือความสามารถ ในการที่จะทำให้บุคคลหรือสัตว์ทั้งหลายเกิดความสนใจ หรือตกอยู่ภายใต้การครอบงำของตนเองได้ วิสยรูป มี ๗ อย่าง คือ

๑. รูปารมณ์ ได้แก่ วัณณรูป คือ สีต่าง ๆ

๒. สัททารมณ์ ได้แก่ สัททรูป คือ เสียงต่าง ๆ

๓. คันธารมณ์ ได้แก่ คันธรูป คือ กลิ่นต่าง ๆ

๔. รสารมณ์ ได้แก่ รสรูป คือ รสต่าง ๆ

๕. ปถวีโผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ ปถวีรูปคือ ความอ่อน หรือ ความแข็ง

๖. เตโชโผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ เตโชรูปคือ ความร้อน หรือ ความเย็น

๗. วาโยโผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ วาโยรูปคือ ความหย่อน หรือ ความตึง

ในบรรดาวิสยรูปทั้ง ๗ นี้

รูปารมณ์ คือ วัณณรูป ย่อมเป็นอารมณ์แก่จักขุวิญญาณจิต ๒ และจักขุทวาริกจิต ๔๖ ย่อมมีอำนาจในการดึงดูดจักขุวิญญาณจิตและจักขุทวาริกจิตทั้งหลายให้มารับรู้ หรือย่อมครอบงำจักขุวิญญาณจิต ๒ และจักขุทวาริกจิต ๔๖ ได้

สัททารมณ์ คือ สัททรูป ย่อมเป็นอารมณ์แก่โสตวิญญาณจิต ๒ และโสตทวาริกจิต ๔๖ ย่อมมีอำนาจในการดึงดูดโสตวิญญาณจิตและโสตทวาริกจิตทั้งหลายให้มารับรู้ หรือย่อมครอบงำโสตวิญญาณจิต ๒ และโสตทวาริกจิต ๔๖ ได้

คันธารมณ์ คือ คันธรูป ย่อมเป็นอารมณ์แก่ฆานวิญญาณจิต ๒ และฆานทวาริกจิต ๔๖ ย่อมมีอำนาจในการดึงดูดฆานวิญญาณจิตและฆานทวาริกจิตทั้งหลายให้มารับรู้ หรือย่อมครอบงำฆานวิญญาณจิต ๒ และฆานทวาริกจิต ๔๖ ได้

รสารมณ์ คือ รสรูป ย่อมเป็นอารมณ์แก่ชิวหาวิญญาณจิต ๒ และชิวหาทวาริกจิต ๔๖ ย่อมมีอำนาจในการดึงดูดชิวหาวิญญาณจิตและชิวหาทวาริกจิตทั้งหลายให้มารับรู้ หรือย่อมครอบงำชิวหาวิญญาณจิต ๒ และชิวหาทวาริกจิต ๔๖ ได้

โผฏฐัพพารมณ์ คือ โผฏฐัพพรูป ได้แก่ ปถวีโผฏฐัพพารมณ์ เตโชโผฏฐัพพารมณ์ และวาโยโผฏฐัพพารมณ์ ย่อมเป็นอารมณ์แก่กายวิญญาณจิต ๒ และกายทวาริกจิต ๔๖ ย่อมมีอำนาจในการดึงดูดกายวิญญาณจิตและกายทวาริกจิตทั้งหลายให้มารับรู้ หรือย่อมครอบงำกายวิญญาณจิต ๒ และกายทวาริกจิต ๔๖ ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |