| |
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของสัททรูป   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๐๗ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของสัททรูปไว้ดังต่อไปนี้

สัททารมณ์ ได้แก่ สัททะ คือ เสียงที่กระทบกับประสาทหู ทำให้เกิดโสตวิญญาณจิตคือการได้ยินเสียง

สัททะ ได้แก่ เสียงที่ปรากฏเป็นอารมณ์ให้แก่โสตวิญญาณนี้ ชื่อว่า สัททารมณ์ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า

สทฺทียติ อุจฺจารียตีติ [อุจฺจียตีติ] สทฺโท” แปลความว่า รูปใดที่เปล่งออกมาได้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น ชื่อว่า สัททะ ได้แก่ เสียงที่สัตว์ทั้งหลายเปล่งออกมา

อีกนัยหนึ่ง “สปฺปติ โสตวิญฺเยฺยภาวํ คจฺฉตีติ สทฺโท” แปลความว่า รูปใดย่อมถึงสภาพที่ทำให้โสตวิญญาณรู้ได้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น ชื่อว่า สัททะ

บทสรุปของผู้เขียน :

ตามวจนัตถะคือคำจำกัดความของสัททรูปหรือสัททารมณ์ที่ท่านอาจารย์ได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนขอสรุปความหมายเพื่อความเข้าใจโดยสังเขป ดังต่อไปนี้

ตามวจนัตถะแรกนั้น ท่านแสดงมุ่งหมายถึงเสียงของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่เปล่งออกมา เช่น เสียงคนพูด เสียงสัตว์ร้อง เป็นต้น ซึ่งเป็นสัททรูปที่เกิดจากจิต เรียกว่า จิตตชรูป ถ้าเสียงที่ออกมานั้นมีความเบาหรือไม่ค่อยมีกำลังและไม่ใช่เสียงพูดหรือเสียงร้อง แต่เป็นเสียงอื่น ๆ มีเสียงการถอนหายใจ เสียงกรน เสียงไอ เป็นต้น เรียกว่า สัททนวกกลาป คือ กลุ่มรูปที่มี ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และสัททรูป ๑ ถ้าเสียงถอนหายใจเป็นต้นนั้น เปล่งออกมาเต็มที่ หรือมีสภาพเข้มแข็ง ก็เรียกว่า สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่มี ๑๒ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ และวิการรูป ๓ ถ้าเสียงนั้นเป็นเสียงพูดหรือเสียงร้อง แต่ไม่ค่อยเข้มแข็ง ก็เรียกว่า วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป คือ กลุ่มรูป ที่มี ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ วจีวิญญัติรูป ๑ สัททรูป ๑ แต่ถ้าเสียงพูดหรือเสียงร้องนั้น เปล่งออกมาอย่างเต็มที่หรือมีกำลังเข้มแข็งและชัดเจน ก็เรียกว่า วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่มี ๑๓ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ วจีวิญญัตติรูป ๑ วิการรูป ๓

ตามวจนัตถะที่ ๒ ท่านแสดงมุ่งหมายถึงเสียงของสัตว์ที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหมด เพราะเสียงเหล่านั้นย่อมปรากฏเป็นอารมณ์แก่โสตวิญญาณจิต คือ สามารถได้ยินได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดทั้งจากจิต ที่เรียกว่า จิตตชรูป ด้วย และเสียงที่เกิดจากอุณหภูมิหรืออากาศ สภาพแวดล้อม หรือจากสรรพสิ่งทั้งปวง ที่เรียกว่า อุตุชรูป ด้วย ได้แก่ เสียงทั้ง ๔ ประเภท คือ สัททนวกกลาป วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป และ วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป ตามที่แสดงไว้ในวจนัตถะข้อที่ ๑ นั่นเอง ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยของเสียงที่เกิดจากจิตหรืออุตุเหล่านั้นว่ามีสภาพเป็นอย่างไร

ตามที่กล่าวแล้วนี้ มุ่งหมายเอาเฉพาะเสียงที่ปรากฏเป็นสัททารมณ์แก่โสตวิญญาณจิตและโสตทวาริกจิตทั้งหลายเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |