| |
ประเภทของกาย   |  

กาย ๒ ประเภท

ในคัมภีร์มังคลัตถทีปนีภาค ๑ ได้แสดงประเภทของกายไว้ ๒ ประเภทรุ.๑๘๒ คือ

๑. นามกาย คือ นามธรรมในขันธ์ ๕

๒. กรัชกาย คือ กายที่เกิดแต่ธุลี ได้แก่ รูปร่างกายทั้งหมด

กาย ๔ อย่าง

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๘๓ ได้แสดงความหมายของกายไว้ ๔ ประเภท ดังต่อไปนี้

คำว่า กาย นี้ มีความหมายหลายประการ คือ หมายถึงรูปอันเป็นที่ประชุมแห่งส่วนต่าง ๆ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น บางทีก็ใช้ในความหมายของร่างกายทั้งหมด และบางทีก็ใช้ในความหมายของนามธรรม เช่น จิตและเจตสิก และบางทีก็ใช้ในความหมายของความเป็นกลุ่มเป็นกอง เมื่อรวมความแล้วอาจจำแนกความหมายของคำว่า กาย ได้เป็น ๔ ประการ คือ

๑. ปสาทกาย หมายถึง กายปสาทรูป

๒. รูปกาย หมายถึง รูปธรรมทั้งปวง

๓. นามกาย หมายถึง นาม คือ จิตและเจตสิก

๔. บัญญัติกาย หมายถึง สมูหบัญญัติ คือ การบัญญัติเป็นหมวดหมู่ เป็นกลุ่ม เป็นกอง มีกองช้าง เรียกว่า หัตถีกาย กองม้า เรียกว่า อัสสกาย เป็นต้น

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

คำว่า กาย ตามความหมายที่ท่านแสดงมาแล้วนี้ แปลว่า ความใส บ้าง แปลว่า กอง บ้าง ดังต่อไปนี้

๑. ปสาทกาย หมายถึง กายปสาทรูป ซึ่งแปลว่า ความใสแห่งกาย หมายความว่า รูปธรรมที่เป็นความใสซึ่งเกิดจากกรรมที่ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย ยกเว้นที่ปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ หนังที่ด้าน [เซลล์ที่ตายแล้ว] และที่รวมแห่งอาหารใหม่ใต้ลำไส้ใหญ่อันเป็นสถานที่เกิดและที่ทำงานของปาจกเตโช เป็นรูปธรรมที่มีประสิทธิภาพในการรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ เพราะฉะนั้น คำว่า กายปสาท จึงได้แก่ สถานที่ที่รองรับความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เป็นต้น ที่ปรากฏทั่วร่างกายนั่นเอง

๒. รูปกาย แปลว่า กองแห่งรูป ซึ่งหมายถึง รูปธรรมทั้งปวง ทั้งรูปธรรมที่เป็นร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้งกายปสาทด้วย และรูปธรรมที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายด้วย รวมเรียกว่า รูปขันธ์ ซึ่งมีคุณสมบัติ ๑๑ กอง มีความเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นต้น

๓. นามกาย แปลว่า กองแห่งนามธรรม หมายถึง จิตและเจตสิกทั้งหมด ที่เรียกว่า นามขันธ์ ๔ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ซึ่งแต่ละขันธ์นั้น ต่างก็มีคุณสมบัติอย่างละ ๑๑ กอง มีความเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นต้นด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า นามกาย หรือ นามขันธ์

๔. บัญญัติกาย หมายถึง สมูหบัญญัติ คือ การบัญญัติเป็นหมวด เป็นหมู่ เป็นกลุ่ม เป็นกอง เช่น กองช้าง เรียกว่า หัตถีกาย กองม้า เรียกว่า อัสสกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นบัญญัติที่สมมุติโดยอาศัยสิ่งที่รวมกันอยู่เป็นหมวด เป็นหมู่หรือเป็นกองเป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |