| |
อนิจจตารูป   |  

ความหมายของอนิจจตารูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๔๗ ได้แสดงสรุปความหมายของ อนิจจตารูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า นิจจะ คือ สภาพที่เที่ยงด้วยความเกิด ความแก่ และความพินาศ หมายถึง อสังขตธรรม [ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง]

คำว่า อนิจจะ คือ สภาพที่ไม่เที่ยง หมายถึง สังขตธรรม [ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง]

อนิจจตา คือ ความไม่เที่ยง หมายถึง ความพินาศ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๔๔๘ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องอนิจจตารูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

รูปที่ชื่อว่า อนิจจัง เพราะอรรถว่า อันบุคคลไม่พึงถึง คือ ไม่พึงเข้าถึง โดยสภาพที่เที่ยงและยั่งยืน ภาวะแห่งรูปที่ไม่เที่ยงนั้น ชื่อว่า อนิจจตา ได้แก่ การแตกทำลายไปแห่งรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๔๙ ได้แสดงสรุปสภาวะของอนิจจตารูปไว้ดังต่อไปนี้

อนิจจตารูป หมายถึง รูปที่กำลังแตกดับ มีชื่อเรียกว่า มรณรูป หรือ ภังครูป ก็ได้ ได้แก่ ภาวะแห่งความดับของนิปผันนรูป คือ ภังคักขณะของนิปผันนรูป เพราะฉะนั้น อนิจจตารูปนี้จึงหมายเอาเฉพาะขณะดับของนิปผันนรูปเท่านั้น

ชรตารูปและอนิจจตารูป ทั้ง ๒ นี้ ย่อมมีอยู่เฉพาะในนิปผันนรูปที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปฏิสนธิขณะเป็นต้นไป จนถึงขณะที่สัตว์นั้นตายลงนั่นเอง

บทสรุปของผู้เขียน :

คำว่า นิจจะ คือ สภาพที่เที่ยงด้วยความเกิด ความแก่ และความพินาศ ซึ่งหมายถึง อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง อันได้แก่ พระนิพพาน [นับบัญญัติเข้าด้วยโดยอนุโลม] เพราะฉะนั้น อสังขตธรรมจึงไม่มีความเกิด ไม่มีความแก่ และไม่มีความพินาศย่อยยับหรือไม่มีความตาย กล่าวโดยสรุป ก็คือ อสังขตธรรมนั้นย่อมไม่มีความเกิด ไม่มีความแก่ และไม่มีความตายนั่นเอง จึงเรียกว่า นิจจธรรม

คำว่า อนิจจะ คือ สภาพที่ไม่เที่ยง กล่าวคือ เที่ยงต่อความเกิด ความแก่ และความพินาศย่อยยับไป หรือเที่ยงต่อความตาย ซึ่งหมายถึง สังขตธรรม คือ สภาวธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้น อันได้แก่ สิ่งทั้งปวงที่นอกจากพระนิพพาน [และบัญญัติ] กล่าวคือ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดนั่นเอง เพราะฉะนั้น สังขตธรรมจึงเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง มีความเกิด ความแก่ และความดับไปตามเหตุปัจจัย

คำว่า อนิจจตา คือ ความไม่เที่ยง หมาถึง ความพินาศ ได้แก่ มีความเปลี่ยนแปลงและแตกสลายไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง

วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของอนิจจตารูป

อนิจจตารูป เป็นอาการดับของนิปผันนรูป ดังมีวจนัตถะแสดงว่า“อนิจฺจสฺส ภาโว = อนิจฺจตา” แปลความว่า ภาวะแห่งความดับของนิปผันนรูป ชื่อว่า อนิจจตา

เพราะฉะนั้น จึงสรุปความได้ว่า อนิจจตารูปนี้ หมายเอาเฉพาะความดับของ นิปผันนรูปเท่านั้น ส่วนอนิปผันนรูปทั้งหลายนั้น เป็นเพียงอาการของนิปผันนรูปหรืออาศัยนิปผันนรูปเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีสภาวะของตนอยู่โดยเฉพาะ ต้องอาศัยนิปผันนรูปเป็นฐานปรากฏ จึงจะสามารถเกิดมีขึ้นได้

อนึ่ง อนิจจตารูปนี้ จะกล่าวว่า เป็นความตายของนิปผันนรูปก็ได้ มีทั้งความตายแบบชั่วขณะหนึ่ง ๆ ก็มี ความดับหรือความตายครั้งสุดท้ายเมื่อชีวิตดับลงก็มี ซึ่งคำว่า ตาย นี้ มีคำใช้แทนกันได้หลายคำ เช่น

๑. จุติ ตาย

๒. จวนตา การเคลื่อนไป

๓. เภทะ การแตกทำลายไป

๔. อันตรธาน การสูญสลายไป

๕. มัจจุ ความตาย

๖. กาลกิริยา การทำกาละ

๗. ขันธเภทะ ความแตกแห่งขันธ์

๘. กเลวรนิกเขปะ การทอดทิ้งสรีระร่างกาย

๙. ชีวิตินทริยูปัจเฉทะ การขาดไปซึ่งชีวิตินทรีย์

๑๐. มรณะ ความตาย

คุณสมบัติพิเศษของอนิจจตารูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๕๐ ได้แสดงสรุปสภาวะของอนิจจตารูปไว้ดังต่อไปนี้

อนิจจตารูป มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ อย่าง มีลักษณะ คือ เอกลักษณ์เฉพาะตน เป็นต้น จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลักขณาทิจตุกกะ ได้แก่

๑. รูปปริกีรณลกฺขณา วา ปริเภทลกฺขณา วา มีความกระจัดกระจายของ นิปผันนรูป เป็นลักษณะ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของนิปผันนรูป เป็นลักษณะ

๒. สํสีทนรสา มีการทำให้รูปจมดิ่งลงสู่ความแตกดับ เป็นกิจ

๓. ขยวยปจฺจุปฏฺานา มีความเสื่อมสิ้นไปของนิปผันนรูป เป็นอาการปรากฏ

๔. ปริภิชฺชมานรูปปทฏฺานา มีรูปที่กำลังแตกดับไป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากคุณสมบัติพิเศษของอนิจจตารูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ข้าพเจ้าจะได้อธิบายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจในรายละเอียดแห่งคุณสมบัติพิเศษแต่ละอย่างดังต่อไปนี้

๑. รูปปริกีรณลกฺขณา วา ปริเภทลกฺขณา วา มีความกระจัดกระจายของนิปผันนรูป เป็นลักษณะ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของนิปผันนรูป เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพแห่งอนิจจตารูปนี้ ก็ได้แก่ อาการดับของนิปผันนรูปทั้งหลายเท่านั้น ไม่มีสภาวะลักษณะหรือรูปร่างสันฐานสีสันวรรณะเป็นของตนเองอยู่โดยเฉพาะแต่ประการใด เพราะฉะนั้น อนิจจตารูปนี้จะมีขึ้นได้ก็ต้องมีนิปผันนรูปปรากฏเกิดขึ้นก่อน ถ้าไม่มีนิปผันนรูปปรากฏเกิดขึ้นก่อนแล้ว อนิจจตารูปนี้ย่อมปรากฏมีขึ้นไม่ได้เลย อนึ่ง การที่ท่านจัดอาการดับของนิปผันนรูปนี้เป็นรูปชนิดหนึ่งนั้น เพราะความดับนี้เป็นอาการที่ติดตัวมากับรูปธรรมทั้งหลายนั่นเอง และมีความเป็นไปกับรูปธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งด้วย เรียกว่า อนิจจตารูป ดังกล่าวแล้ว

๒. สํสีทนรสา มีการทำให้รูปจมดิ่งลงสู่ความแตกดับ เป็นกิจ หมายความว่า ความดับที่เป็นอนิจจตารูปนี้ เป็นอาการดับของนิปผันนรูปทั้งหลาย ซึ่งเป็นหน้าที่อันสำเร็จมาจากคุณสมบัติ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส เท่านั้น เพราะมีสภาพเป็นอัพยากตะและอจิตตกะ กล่าวคือ เป็นสภาพที่ปรากฏขึ้นจากเหตุปัจจัย สำเร็จมาด้วยธรรมที่เป็นสมุฏฐาน และไม่มีเจตนาที่จะจัดแจงปรุงแต่งให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นหรือเป็นไปตามความต้องการของตนแต่ประการใด ย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ที่ท่านกล่าวว่า อนิจจตานี้มีการทำให้รูปธรรมทั้งหลายจมดิ่งลงสู่ความแตกดับนั้น เป็นการกล่าวโดยอุปมาเท่านั้น เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาเท่านั้น กล่าวคือ อาการเกิด อาการเปลี่ยนแปลง และอาการแตกดับ นั้น ย่อมปรากฏติดมากับสังขตธรรมทั้งหลายนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่ออาการดับปรากฏขึ้น ก็หมายความว่า สังขตธรรมนั่นเองเป็นตัวแตกดับไปหรือตายไป ไม่ใช่อาการแตกดับทำให้แตกดับอีกทีหนึ่งแต่ประการใด

๓. ขยวยปจฺจุปฏฺานา มีความเสื่อมสิ้นไปของนิปผันนรูป เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพปรากฏของอนิจจตารูปนี้ ก็คือ ความที่นิปผันนรูปทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมีความเสื่อมสิ้น แตกดับ หรือสลายไป กล่าวคือ ความตายของสัตว์ทั้งหลาย และความแตกดับทำลายของสรรพสิ่งทั้งปวงนั่นเอง เป็นอาการปรากฏของอนิจจตารูป

๔. ปริภิชฺชมานรูปปทฏฺานา มีรูปที่กำลังแตกดับไป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า อนิจจตารูปนี้จะปรากฏสภาพออกมาได้ ก็ต้องมีนิปผันนรูปปรากฏเกิดขึ้นมาก่อน และนิปผันนรูปเหล่านั้นก็อยู่ในสภาพที่แก่ชราหรือเก่าคร่ำคร่า กำลังจะแตกดับไปอยู่แล้วเป็นเหตุใกล้ อาการแตกดับหรืออาการเสื่อมสิ้นสลายไปที่เป็นอนิจจตารูปนี้จึงจะสามารถปรากฏสภาพขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีนิปผันนรูปเกิดขึ้น หรือนิปผันนรูปนั้นยังอยู่ในขณะเกิดและขณะตั้งอยู่แล้ว อาการดับก็ยังไม่สามารถปรากฏขึ้นมาได้ ต่อเมื่อรูปธรรมทั้งหลายตั้งอยู่ในภังคักขณะนั่นแหละ อนิจจตารูปนี้จึงจะสามารถปรากฏสภาพขึ้นมาได้ดังกล่าวแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |