| |
ภาวรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๔๘ ท่านได้แสดงถึงภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า อิตถี [หญิง] คือ กองขันธ์ ๕ ที่ตั้งอยู่ในลักษณะไม่สะอาด

คำว่า อิตถัตตะ [ความเป็นหญิง] คือ รูปที่ทำให้กองขันธ์ ๕ ตั้งอยู่และเป็นไปได้อย่างนั้น โดยมีรูปวิเคราะห์ว่า ภาวะของหญิง ชื่อว่า อิตถัตตะ

คำว่า ปุริสะ [ชาย] คือ กองขันธ์ ๕ ที่ตั้งอยู่ในลักษณะสะอาด

ในเรื่องนั้น อิตถัตตะ คือ ลักษณะที่เป็นเหตุเกิดแห่งเพศหญิง สัณฐานของผู้หญิงการกระทำของผู้หญิง และอาการของผู้หญิง

ปุริสัตตะ [ความเป็นชาย] คือ ลักษณะที่เป็นเหตุเกิดแห่งเพศชาย สัณฐานของผู้ชาย การกระทำของผู้ชาย และอาการของผู้ชาย

เพราะฉะนั้น คำว่า เพศ จึงหมายถึง สัณฐานใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ [เช่น รูปร่าง เป็นต้น]

คำว่า สัณฐาน หมายถึง สัณฐานเล็กที่เป็นองค์ประกอบย่อย [เช่นอกเอวเป็นต้น]

คำว่า การกระทำ หมายถึง กิริยาพิเศษมีการเล่นและการยิ้มแย้ม เป็นต้น

คำว่า อาการ หมายถึง อาการพิเศษมีการไปและการมา เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ คือ ความเป็นไปพิเศษของขันธ์ ๕ ที่เรียกว่า ลิงค์ [เพศ] ในคัมภีร์ไวยากรณ์ทั้งหลาย และทำให้ชาวโลกรู้กันว่า นี้คือผู้หญิง ไม่ใช่ผู้ชาย หรือ นี้คือผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๒๔๙ ท่านได้แสดงถึงภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

ภาวะแห่งหญิง ชื่อว่า ความเป็นแห่งหญิง ภาวะแห่งชาย ชื่อว่า ความเป็นแห่งชาย ในความเป็นหญิงและความเป็นชายนั้น ความเป็นหญิงมีความเป็นเหตุแห่งเพศนิมิต การเยื้องกรายและอากัปปะแห่งหญิงเป็นลักษณะ ความเป็นชายมีความเป็นเหตุแห่งเพศชายเป็นต้นเป็นลักษณะ ในลักษณะมีเพศเป็นต้นนั้น องคชาต [ธรรมชาติที่เกิดในตัว] ของผู้หญิง ชื่อว่า เพศหญิง เสียงและความประสงค์รุ.๒๕๐ ชื่อว่า อิตถีนิมิต [เครื่องหมายแห่งหญิง] เพราะเป็นปัจจัยให้รู้ว่า “เป็นหญิง” กิริยามีการยืนการเดินและการนั่งเป็นต้นไม่องอาจ ชื่อว่า การเยื้องกรายของหญิง สัณฐาน [ทรวดทรง] ของหญิง ชื่อว่า อากัปปะ [รูปทรง] ของหญิง แม้ลักษณะมีเพศแห่งชายเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้ว แต่ในอรรถกถา ท่านพรรณนาเพศแห่งหญิงเป็นต้นไว้โดยประการอื่น ส่วนท่านอาจารย์ทั้งหลายกล่าวรวบรวมคำนั้นไว้อย่างนี้ คือ

ทรวดทรงของอวัยวะมีมือเป็นต้น ชื่อว่า เพศ

อาการมีการยิ้มหัวเป็นต้น ชื่อว่า นิมิต

การเล่นด้วยกระด้งเป็นต้น ชื่อว่า กุตตะ

กิริยามีการเดินเป็นต้น ชื่อว่า อากัปปะ

รูปทั้ง ๒ ชื่อว่า ภาวรูป เพราะทำวิเคราะห์ว่า เป็นเหตุให้เรียกว่าหญิงและให้รู้ว่าหญิงเป็นต้น ฯ ก็ภาวรูปนั้น แผ่ไปอยู่ทั่วสรีระทั้งสิ้น เหมือนกายินทรีย์

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๕๑ ได้แสดงความหมายของภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

ภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงสภาพความเป็นหญิงหรือชาย ให้รู้ได้ด้วยใจ โดยอาศัยรูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย และกิริยาอาการต่าง ๆ จากรูปเหล่านั้น เป็นเครื่องหมายให้รู้

ภาวรูป มี ๒ อย่าง คือ อิตถีภาวรูป และ ปุริสภาวรูป

บทสรุปของผู้เขียน :

คำว่า ภาวะ หมายถึง เหตุให้เกิดความเข้าใจและเป็นที่มาของชื่ออย่างนี้ว่า นั่นคือหญิง นั่นคือชาย ในกระแสขันธ์ที่เกิดร่วมกับภาวรูป หรือเป็นเหตุให้เกิดเพศเป็นต้นในกระแสขันธ์ดังกล่าว

คำว่า ภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงเหตุในกระแสแห่งขันธ์ให้รู้และเข้าใจได้ว่า เป็นเพศหญิงหรือเพศชาย โดยแสดงออกมาเป็นรูปร่างสัณฐาน เครื่องหมาย นิสัย และกิริยาอาการต่าง ๆ ทำให้สามารถกำหนดหมายได้ว่า บุคคลนั้นเป็นหญิง บุคคลนี้เป็นชาย โดยอาศัยเครื่องหมาย ๔ ประการ คือ

๑. ลิงคะ คือเพศที่แสดงทรวดทรงของอวัยวะต่าง ๆ ออกมา มีมือและเท้าเป็นต้น

๒. นิมิตตะ คือ อาการต่าง ๆ ที่แสดงออกมา มีการยิ้ม การหัวเราะ เป็นต้น

๓. กุตตะ คือ นิสัยที่แสดงออกมา โดยการเล่นของเล่น เครื่องประดับ เป็นต้น

๔. อากัปปะ คือ กิริยาท่าทางต่าง ๆ มีการเดิน เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเมื่อสรุปความแล้ว คำว่า ภาวรูป มีความหมาย ๒ ประการคือ

๑. เหตุให้เกิดความเข้าใจและเป็นที่มาของชื่อ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ภวนฺติ ปวตฺตนฺติ อภิธานพุทฺธิโย เอเตนาติ ภาโว” แปลความว่า รูปเหล่าใดย่อมมีขึ้นและเป็นไปให้เข้าใจได้ถึงสภาพของชื่อ เพราะเหตุนั้น รูปเหล่านั้น จึงชื่อว่า ภาวะ ได้แก่ อิตถีภาวรูป และปุริสภาวรูป

๒. เหตุให้เกิดเพศเป็นต้น ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ภวนฺติ ปาตุภวนฺติ ลิงฺคาทีนิ ตสฺมึ สตีติ ภาโว” แปลความว่า ลักษณะทั้งหลายมีเพศเป็นต้น ย่อมเกิดปรากฏมีขึ้นในรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงได้ชื่อว่า ภาวะ ได้แก่ อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |