| |
วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของจักขุปสาทรูป   |  

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๑๓๙ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของจักขุปสาทรูปไว้ดังนี้

จักขุปสาทรูป หมายถึง รูปอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดแห่งจักขุวิญญาณจิต ๒ และเป็นรูปที่มีสภาพเป็นอยู่คล้าย ๆ จะบอกให้จักขุวิญญาณจิตรู้อารมณ์ว่า อารมณ์นั้นดีหรือไม่ดี ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “จกฺขุวิญฺาณาธิฏฺตฺตํ หุตฺวา สมวิสมํ จกฺขติ อาจิกฺขนฺตํ วิย โหตีติ = จกฺขุ” แปลความว่า รูปใดเป็นที่ตั้งแห่งจักขุวิญญาณและมีสภาพเป็นอยู่คล้ายกับจะบอกให้จักขุวิญญาณนั้นรู้อารมณ์ว่า อารมณ์นั้นดีหรือไม่ดี [เสมอหรือไม่เสมอ] เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า จักขุ ได้แก่ จักขุปสาทรูป

บทสรุปของผู้เขียน :

ตามวจนัตถะที่ท่านแสดงแล้วนี้ จักขุปสาทรูปนี้จึงเป็นรูปธรรมอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดแห่งจักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง ในการรับรู้รูปารมณ์คือสีต่าง ๆ อนึ่ง จักขุปสาทรูปนี้เป็นรูปธรรมที่มีสภาพเป็นอยู่คล้ายกับจะบอกให้จักขุวิญญาณจิตรู้อารมณ์ว่า อารมณ์นั้นดีหรือไม่ดี หมายความว่า จักขุปสาทรูปนี้เป็นรูปธรรมอันเป็นสถานที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณจิต ในการรับรู้รูปารมณ์อันแสดงรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะของสิ่งต่าง ๆ ทำให้มโนวิญญาณจิตทั้งหลายที่เกิดตามมาภายหลัง สามารถรับรู้รูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะของสิ่งนั้น ๆ ได้ ตลอดจนรู้ได้ว่า สิ่งนั้นสวยงาม ไม่สวยงาม น่าชอบใจ ไม่น่าชอบใจ เลว ประณีต เป็นต้น เพราะฉะนั้น การที่บุคคลทั้งหลายสามารถรับรู้รูปร่างสีสันวรรณะของสิ่งต่าง ๆ ได้ ตลอดจนรู้ว่า ส่วนเสมอ ส่วนไม่เสมอ ส่วนเว้า ส่วนโค้ง ส่วนกลม เป็นต้น และรู้ว่าสิ่งนี้สวยงาม สิ่งนี้ไม่สวยงาม สิ่งน่าชอบใจ สิ่งนี้ไม่น่าชอบใจ สิ่งนี้ดี สิ่งนี้เลว เป็นต้นได้นั้น ก็เพราะอาศัยจักขุปสาทรูปนี้เองเป็นเหตุ ถ้าบุคคลใดไม่มีจักขุปสาทรูปแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่สามารถรับรู้ถึงสภาพเหล่านี้ได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |