ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๑๑ ได้แสดงสรุปความเรื่องวิการรูป ๓ ไว้ดังต่อไปนี้
ความเบาของรูปมีลักษณะไม่หนัก ความอ่อนของรูปมีลักษณะไม่แข็ง ความควรแก่กิริยาของรูปมีลักษณะสมควรแก่กิริยาที่คล้อยตามอาการทางสรีระรุ.๔๑๒ [กิริยาอาการท่าทางต่าง ๆ ตลอดถึงการกระทำทางกาย ทางวาจา เป็นต้น]
ความเบาของรูปเป็นต้นแม้จะเกิดร่วมกัน ก็ไม่ระคนกันด้วยอำนาจของปัจจัยที่ตรงกันข้ามและปัจจัยที่เหมาะสม หมายความว่า เมื่อบุคคลประจวบเข้ากับอุตุ อาหาร หรืออาการทางจิตที่ตรงกันข้ามกับสรีระของตน บางคราวธาตุในร่างกายทำให้สรีระทั้งหมดหรือบางส่วนกระสับกระส่าย ทำให้เกิดอาโปธาตุ เปรียบเหมือนพิษงูที่ทำให้สรีระเน่าเปื่อย ฉันนั้น ทำให้สรีระหนักทรงได้ยาก เปรียบเหมือนของหนักที่ยกขึ้นได้ยาก ฉันนั้น ย่อมทำให้เกิดทุกข์ที่มีความหนักของสรีระเป็นเหตุในการเปลี่ยนอิริยาบถ ในขณะนั้น ความเบาของรูปย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อประจวบเข้ากับอุตุและอาหาร หรืออาการทางจิตที่เหมาะสมกับสรีระของตน อาการกระสับกระส่ายของธาตุย่อมสงบไป สรีระย่อมมีสภาพเบา การเปลี่ยนอิริยาบถย่อมจะไม่มีทุกข์ที่มีความหนักของสรีระเป็นเหตุ ในขณะนั้น ความเบาของรูปย่อมเกิดขึ้น
ความอ่อนของรูปและความควรแก่กิริยาของรูปอื่นก็มีนัยเดียวกันนี้ แต่โดยความพิเศษ [ความต่างกัน] แล้ว ความอ่อนของรูปมีดังต่อไปนี้ คือ ธาตุในสรีระย่อมก่อให้เกิดปถวีธาตุที่เปรียบเหมือนพิษงูทำให้แข็งเหมือนไม้ ทำให้สรีระแข็งกระด้างเหมือนไม้แห้ง ย่อมทำให้เกิดทุกข์ที่มีความแข็งกระด้างซึ่งถึงความชำรุดทรุดโทรมของอวัยวะน้อยใหญ่เป็นเหตุในการเปลี่ยนอิริยาบถ พึงกล่าวข้อความอื่นจากนี้ [เหมือนข้างต้น]
ความควรแก่กิริยาของรูป มีดังต่อไปนี้ ธาตุในสรีระย่อมก่อให้เกิดวาโยธาตุเหมือนพิษงูที่รุนแรงเหมือนศาสตรา ทำให้วาโยธาตุไม่สม่ำเสมอกัน ย่อมยังสรีระให้หมุนบิดไปมาเหมือนหนึ่งแคว้นชายแดนที่ถูกโจรกบฏรุกราน จนกระทั่งไม่มีความสุขในอิริยาบถทั้งหมด พึงกล่าวข้อความอื่นจากนี้ [เหมือนข้างต้น]
อนึ่ง เตโชธาตุนั้น เป็นมูลเหตุของธาตุทั้งหมด หมายความว่า เมื่อประจวบเข้ากับสิ่งที่ไม่เหมาะสมแล้ว เตโชธาตุจะแปรปรวน ทำให้ร้อนหรือเย็นมากเกินไป เมื่อเตโชธาตุแปรปรวน ธาตุอื่นก็จะแปรปรวนตามไปได้
ความเบาของรูปเป็นต้น หมายถึง อาการพิเศษที่ประจักษ์โดยความเบาเป็นต้น ในการเปลี่ยนอิริยาบถของรูปกาย เหมือนความสบายของคนที่ไม่มีโรค เหมือนความอ่อนของหนังที่ฟอกดีแล้ว และเหมือนความควรแก่กิริยา [การหลอม] ของทองที่หลอมดีแล้ว เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้ จึงชื่อว่า วิการรูป
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๔๑๓ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องวิการรูปไว้ดังต่อไปนี้
บัณฑิตกล่าวรูปปวัตติทั้ง ๓ มีลหุตาเป็นต้น แม้ไม่พรากจากกันและกันก็จริง แต่ก็ต่างกันด้วยรูปอันยิ่งด้วยวิการนั้น ๆ ก็รูปวิการมีปัจจัยที่เป็นข้าศึกแก่ความกำเริบแห่งธาตุ อันทำความชักช้าเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า ลหุตา รูปวิการมีปัจจัยที่เป็นข้าศึกแก่ความกำเริบแห่งธาตุอันกระทำความเป็นของกระด้างเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า มุทุตา รูปวิการมีปัจจัยที่เป็นข้าศึกแก่ความกำเริบแห่งธาตุอันกระทำความไม่อนุกูลแก่สรีระกิริยาทั้งหลายเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า กัมมัญญตา ดังนี้แล