ไปยังหน้า : |
อรูปาวจรกิริยาจิต หมายถึง จิตของพระอรหันต์ที่เข้าถึงอรูปฌานโดยนัยเดียวกันกับอรูปาวจรกุศลจิตของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ที่แสดงไปแล้ว ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า อรูปาวจรกิริยาจิตนี้ ก็คือ อรูปาวจรกุศลจิต นั่นเอง แต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น อนึ่ง พระอรหันต์นั้นท่านเป็นผู้ละบุญและบาปได้แล้ว ฉะนั้น ฌานของท่านจึงไม่เป็นปัจจัยส่งผลให้ได้รับในภพชาติต่อไปอีก จึงชื่อว่า ฌานกิริยา ด้วยเหตุนี้ วิธีการในการเจริญอรูปฌานกิริยาของพระอรหันต์นั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับการเจริญอรูปฌานกุศลของปุถุชนและพระเสกขบุคคลดังกล่าวแล้ว คือ
อรูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๑
อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง อากาสานัญจายตนก๎ริยจิตตัง
อากาสานัญจายตนกิริยาจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
อรูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๑ นี้เป็นอรูปฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นรูปาวจรปัญจมฌานลาภีบุคคลใช้รูปาวจรปัญจมฌานกุศลจิต [สำหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้รูปาวจรปัญจมฌาน] หรือใช้รูปาวจรกิริยาจิต [สำหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนได้รูปาวจรปัญจมฌาน] เป็นบาทแล้วทำการเจริญอากาสานัญจา ยตนฌานกิริยาต่อไป โดยการเพ่งปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง มีปฐวีกสิณเป็นต้น แล้วกำหนดเพิกปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัตินั้นออกไปเสียจากจิตใจ ให้เหลืออยู่แต่เพียงสภาพอากาศที่ว่างเปล่าในวงรอบขอบเขตแห่งปฏิภาคนิมิตของกสิณนั้น โดยภาวนาว่า “อากาโส อะนันโต ๆ แปลว่า อากาศไม่มีที่สุด” เรียกว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของกสิณุคฆาฏิมากาสนิมิตนั้นปรากฏเด่นชัดขึ้นในใจแล้ว เมื่อนั้น อากาสานัญจายตนกิริยาจิตย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอากสิณุคฆาฏิมากาสนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคลเข้าอากาสานัญจายตนฌานสมาบัติ
อรูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๒
อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง วิญญาณัญจายตนก๎ริยจิตตัง
วิญญาณัญจายตนกิริยาจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
อรูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๑ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคลใช้อากาสานัญจายตนฌานกุศลจิต [สำหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้อากาสานัญจายตนฌาน] หรือใช้อากาสานัญจายตนกิริยาจิต [สำหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนได้อากาสานัญจายตนฌาน] แล้วทำการเจริญวิญญาณัญจายตนฌานกิริยาต่อไป โดยการนึกหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนฌานที่ตนได้มาแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากาสานัญจายตนนิมิต หรือเรียกว่า วิญญาณานันตนิมิต แปลว่า นิมิตแห่งวิญญาณไม่มีที่สุด โดยภาวนาว่า “วิญญาณัง อนันตัง ๆ แปลว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ๆ” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นปรากฏเด่นชัดอยู่ภายในใจแทนที่สภาพของกสิณุคฆาฏิมากาสนิมิตแล้ว เมื่อนั้น วิญญาณัญจายตนกิริยาจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือ เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นวิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคลเข้าวิญญาณัญจายตนฌานสมาบัติ
อรูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๓
อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง อากิญจัญญายตนก๎ริยจิตตัง
อากิญจัญญายตนกิริยาจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
อรูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๓ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นวิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคลใช้วิญญาณัญจายตนกุศลจิต [สำหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้วิญญาณัญจายตนฌาน] หรือใช้วิญญาณัญจายตนกิริยาจิต [สำหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนได้วิญญาณัญจายตนฌาน] ที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นบาทแล้วทำการเจริญอากิญจัญญายตนฌานกิริยาต่อไป โดยการกำหนดนึกให้สภาพของอากาสานัญจายตนฌานที่ตนได้นึกหน่วงมาเป็นอารมณ์ของวิญญาณัญจายตนฌานนั้นให้หายหมดสิ้นไปจากจิตใจ ไม่มีเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อยหนึ่ง เรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ แปลว่า ความสมมติว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย โดยภาวนาว่า “นัตถิ กิญจิ ๆ แปลว่า น้อยหนึ่งก็ไม่มี นิดหนึ่งก็ไม่มี” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นหายไปจากจิตใจแล้ว และสภาพของนัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้นมาปรากฏเด่นชัดในใจแทนที่ เมื่อนั้น อากิญจัญญายตนกิริยาจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอานัตถิภาวบัญญัตินิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นอากิญ จัญญายตนฌานลาภีบุคคลเข้าอากิญจัญญายตนฌานสมาบัติ
อรูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๔
อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง เนวสัญญานาสัญญายตนก๎ริยจิตตัง
เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
อรูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๔ นี้เป็นอรูปฌานจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นอากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคลใช้อากิญจัญญายตนกุศลจิต [สำหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลังจากได้อากิญจัญญายตนฌาน] หรือใช้อากิญจัญญายตนกิริยาจิต [สำหรับผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนได้อากิญจัญญายตนฌาน] ที่ตนได้มาแล้วนั้นเป็นบาท แล้วทำการเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกิริยาต่อไป โดยการนึกหน่วงเอาสภาพของอากิญจัญญายตนฌานที่ดับไปแล้วนั้นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า อากิญจัญญายตนนิมิต แปลว่า นิมิตแห่งความรู้สึกที่ประณีตและละเอียดอ่อน หรือเรียกว่า เอตสันตนิมิต หรือ เอตปณีตนิมิต แปลว่า นิมิตแห่งความ รู้สึกอันละเอียดอ่อน หรือนิมิตแห่งความรู้สึกอันประณีตของอากิญจัญญายตนฌานนั้น โดยการภาวนาว่า “เอตัง สันตัง เอตัง ปะณีตัง แปลว่า อากิญจัญญายตนฌานนี้ละเอียดอ่อนหนอ อากิญจัญญายตนฌานนี้ประณีตหนอ” เมื่อภาวนาเช่นนี้เรื่อยไป จนสภาพของอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาปรากฏเด่นชัดในใจแทนที่สภาพของนัตถิภาวบัญญัตินิมิตแล้ว เมื่อนั้น เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิตย่อมปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากิญจัญญายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น หรือเกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคลเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานสมาบัติ
อนึ่ง ความแตกต่างกันระหว่างสภาพจิตของพระอรหันต์กับปุถุชนนั้น คือ พระอรหันต์นั้นมีสภาพจิตที่บริสุทธิ์หมดจดจากอาสวกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว ฉะนั้น อันตรายแห่งฌาน กล่าวคือ กิเลสที่จะประทุษร้ายให้ฌานเสื่อมนั้นจึงไม่มี จะมีก็แต่ว่า พระอรหันต์นั้นท่านละเลิกจากการรักษาฌานสมาบัติ โดยการไม่หมั่นเข้าฌานสมาบัติหรือไม่ฝึกฝนให้เป็นวสีทั้ง ๕ เท่านั้นเอง ฌานนั้น ก็จะเสื่อมไปเอง ส่วนสภาพจิตของพระเสกขบุคคล ๓ นั้น ย่อมมีความแตกต่างจากสภาพจิตของพระอรหันต์ ในเรื่องความประณีต ความละเอียดอ่อน และความบริสุทธิ์หมดจด แตกต่างกันออกไปบ้าง ตามสมควรแก่บุคคลนั้น ๆ ว่าจะมีอนุสัยกิเลสเหลืออยู่มากหรือน้อยเท่านั้น