ไปยังหน้า : |
๑. รูปวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงรูป เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่รูปารมณ์ หมายความว่า การที่จักขุวิญญาณจิตจะรับรู้รูปารมณ์ คือ รูปต่าง ๆ ได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณจิตในจักขุทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงรูปารมณ์และรับพิจารณารูปารมณ์นั้นเรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้จักขุวิญญาณจิต จักขุวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้รูปารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงรูปารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณารูปารมณ์ได้ แต่จักขุวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะจักขุวิญญาณจิต เป็นเพียงทำการรับรู้รูปารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้น โดยจักขุวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงรูปารมณ์นั้นอีกเลย
๒. สัททวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงเสียง เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่ สัททารมณ์ หมายความว่า การที่โสตวิญญาณจิตสามารถรับรู้สัททารมณ์ คือ เสียงต่าง ๆ ได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนโสตวิญญาณจิตในโสตทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงสัททารมณ์และรับพิจารณาสัททารมณ์นั้นเรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้โสตวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้สัททารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงสัททารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นสามารถรับพิจารณาสัททารมณ์ได้ แต่โสตวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะโสตวิญญาณจิต เพียงแต่ทำการรับรู้สัททารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั่นเอง โดยโสตวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงสัททารมณ์นั้นอีกเลย
๓. คันธวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงกลิ่น เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่คันธารมณ์ หมายความว่า การที่ฆานวิญญาณจิตสามารถรับรู้คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนฆานวิญญาณจิตในฆานทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงคันธารมณ์และรับพิจารณาคันธารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้ฆานวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้คันธารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงคันธารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณาคันธารมณ์ได้ แต่ฆานวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะฆานวิญญาณจิต เพียงแต่ทำการรับรู้คันธารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้น โดยฆานวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงคันธารมณ์นั้นอีกเลย
๔. รสวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงรส เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่ รสารมณ์ หมายความว่า การที่ชิวหาวิญญาณจิตสามารถรับรู้รสารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนชิวหาวิญญาณจิตในชิวหาทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงรสารมณ์และรับพิจารณารสารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้ชิวหาวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้ รสารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึง รสารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณารสารมณ์ได้ แต่ชิวหาวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะชิวหาวิญญาณจิต เพียงแต่ทำการรับรู้รสารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้นเอง โดยชิวหาวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงรสารมณ์นั้นอีกเลย
๕. โผฎฐัพพวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงสัมผัสต่าง ๆ เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่โผฏฐัพพารมณ์ หมายความว่า การที่กายวิญญาณจิตสามารถรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึงได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนกายวิญญาณจิตในกายทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงโผฏฐัพพารมณ์และรับพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้กายวิญญาณจิต กายวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงโผฏฐัพพารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นสามารถรับพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์ได้ แต่กายวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะกายวิญญาณจิตเพียงแต่ทำการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้นเอง โดยกายวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงโผฏฐัพพารมณ์นั้นอีกเลย
๖. ธัมมวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงอารมณ์ ๖ ที่ปรากฏทางใจโดยสภาพที่เป็นธัมมารมณ์ เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่ธัมมารมณ์ หมายความว่า การที่มโนวิญญาณจิตแต่ละดวงสามารถรับรู้ธัมมารมณ์ คือ ความรู้สึกนึกคิดในสภาพของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่าง ๆ ที่ปรากฏทางใจได้นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนชวนจิตในมโนทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงธัมมารมณ์และรับพิจารณาธัมมารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้ชวนจิต ชวนจิตจึงสามารถรับรู้ธัมมารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในมโนทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงธัมมารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในมโนทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณาธัมมารมณ์ได้ และทำให้วิถีจิตดวงอื่น ๆ คือ ชวนจิตและตทาลัมพนจิต สามารถเกิดติดต่อกันตามลำดับไปได้ อนึ่ง แม้วิตกเจตสิกที่ประกอบกับชวนจิตและตทาลัมพนจิตเหล่านั้น ก็ทำการยกสัมปยุตตธรรมทั้งหลายขึ้นสู่ธัมมารมณ์ที่ปรากฏตามลำดับเรื่อยไป จนกระทั่งถึงภวังคจิต วิตกเจตสิกที่ประกอบกับภวังคจิต ย่อมทำการยกสัมปยุตตธรรมคือภวังคจิตและเจตสิกขึ้นสู่อารมณ์เก่าของตนเองตามเดิมต่อไป
ด้วยเหตุนี้ วิตกเจตสิกจึงมีบทบาทในการรับรู้อารมณ์ของสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ถ้าขาดวิตกเจตสิกเสียแล้ว ย่อมไม่มีสภาวธรรมที่จะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ใหม่ได้ ยกเว้นจิตที่ไม่ต้องมีการกระทบกับอารมณ์ เป็นเพียงการรับรู้อารมณ์ที่จิตดวงอื่นรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้น ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ หรือสภาพจิตนั้นได้ล่วงเลยภาวะที่ไม่ต้องมีวิตกเจตสิกแล้ว ได้แก่ ฌานจิต ๕๖ ดวง คือ ทุติยฌานจิต ๑๑ ตติยฌานจิต ๑๑ จตุตถฌานจิต ๑๑ และปัญจมฌานจิต ๒๓ เพราะได้ละวิตกองค์ฌานไปแล้วนั่นเอง