| |
เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการ ๕ ประการ   |  

๑. ปุพเพกะตะปุญญะตา การได้เคยสั่งสมบุญไว้แต่ปางก่อน หมายความว่า เมื่อบุคคลได้สั่งสมบุญเกี่ยวกับเรื่องของปัญญาไว้ในปางก่อนแล้ว [ทั้งในชาติก่อนก็ดี หรือในเวลาก่อน ๆ ในปัจจุบันชาติ เมื่อเกิดขึ้นมาในภพภูมิใหม่ก็ดี] ย่อมเป็นผู้มีความคิดความเห็นเป็นไปในทางที่เป็นสัมมาทิฏฐิ แม้จะเกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ หรือครอบครัวคนป่าคนดอย ที่ห่างไกลจากความเจริญ ห่างไกลจากหลักของศาสนา หรือแม้แต่เกิดเป็นอบายสัตว์ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน หรือเกิดเป็นเทวดา มาร พรหม ก็ตาม ย่อมเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดีฝังติดอยู่ในขันธสันดาน ย่อมน้อมจิตไปในการกระทำที่ดีได้ เช่น เด็กบางคนเกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ แต่ไม่ได้มีความคิดความเห็นไปในทางมิจฉาทิฏฐิด้วย เมื่อได้เหตุปัจจัยที่สัมมาทิฏฐิเปิดทางให้แล้ว ย่อมสามารถเกิดสัมมาทิฏฐิได้ หรือสัตว์เดรัจฉานที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อเจ้าของ หรือมีความรักความเอื้อเฟื้อในหมู่สัตว์ด้วยกัน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ที่มีจิตยินดีในการกุศล หรือพิจารณาเห็นโทษของวิบากกรรมที่ตนเองได้รับอยู่ เป็นต้น โดยไม่มีใครบอก หรือแนะนำสั่งสอนมาก่อน เพราะฉะนั้น บุพเพกตปุญญตา จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้บุคคลนั้น ๆ เกิดโยนิโสมนิสการได้

๒. ปะฏิรูปะเทสะวาโส การได้อยู่ในประเทศที่สมควร หมายความว่า การที่บุคคลนั้น ๆ ได้อยู่สถานที่อันเหมาะสม มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม มีการศึกษาเล่าเรียนที่เป็นไปโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรมอันดี มีหลักศาสนาที่ดีงาม ผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือครอบครัวและสังคมรอบข้างเป็นสัมมาทิฏฐิ ถึงแม้บุคคลนั้น ยังไม่มีความเป็นสัมมาทิฏฐิเต็มที่ก็ตาม หรือมีสัมมาทิฏฐิอยู่แล้ว ด้วยอำนาจบุพเพกตปุญญตา ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อนก็ตาม เมื่อได้พบเห็นความประพฤติปฏิบัติของคนรอบข้าง ในสังคม ซึ่งตนเกี่ยวข้องใกล้ชิด หรือได้ประสบพบเห็นบ่อย ๆ ย่อมเกิดความคิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิไปตามได้ เพราะฉะนั้น การอยู่ในสถานที่อันเหมาะสมที่เรียกว่า ปฏิรูปเทส นั้น ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโยนิโสมนิสการได้อีกอย่างหนึ่ง

๓. สัปปุริสูปะนิสสะโย การได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ หมายความว่า การเข้าไปคบหาสมาคม การเข้าไปนั่งใกล้ การอุปัฏฐากรับใช้ การช่วยเหลือเกื้อกูล การสนทนาปราศรัย การสอบถาม เป็นต้น ตามความเหมาะสมแก่ฐานะของสัตบุรุษนั้น ถึงแม้ตนเองจะไม่ใช่สัตบุรุษ แต่เมื่อได้คบหาสมาคม ได้ใกล้ชิดกับสัตบุรุษ ย่อมได้เห็นพฤติกรรมความประพฤติที่ดีงามของสัตบุรุษนั้น แล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เห็นคุณค่าของการกระทำความดี จิตใจย่อมน้อมไปในสิ่งที่ดีได้ เช่น บางคนเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือเป็นบุคคลกลาง ๆ ยังไม่ได้เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือสัมมาทิฏฐิ แต่เมื่อได้ประสบพบเห็น หรือ ได้คบหาสมาคม ได้ใกล้ชิดกับสัตบุรุษอยู่บ่อย ๆ ย่อมรับรู้และซึมซับความรู้ความเข้าใจในหลักความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น สามารถคิดพิจารณาเหตุผลของสิ่งนั้น ๆ ให้เป็นไปในทางสัมมาทิฏฐิ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องได้

๔. สัทธัมมัสสะวะนัง การได้ฟังสัทธรรมคำสอนจากสัตบุรุษ หมายความว่า เมื่อบุคคลได้อยู่ในสภาพแวดล้อมสภาพสังคมที่ดีงาม หรือได้คบหาสมาคม ได้เข้าไปนั่งใกล้ ได้สนทนาปราศรัย ได้สอบถามความรู้กับสัตบุรุษ หรือได้ศึกษาเล่าเรียนหลักของศาสนา หลักวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามอยู่เสมอ ย่อมเกิดองค์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามสิ่งที่ได้พบเห็น หรือที่ได้ศึกษาเล่าเรียนได้รับฟังมานั้น สามารถใช้วิจารณญาณในการพินิจพิจารณาเหตุผลของสิ่งต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นได้ ทำให้รู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้น สามารถเลือกแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีงามได้ เพราะฉะนั้น การได้ฟังพระสัทธรรมคำสอนของสัตบุรุษ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโยนิโสมนสิการได้ อีกประการหนึ่ง

๕. อัตตะสัมมาปะณิธิ การตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ หมายความว่า เมื่อบุคคลตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ ที่เหมาะสม วางตัวไว้ดี เป็นคนไม่ถือรั้นด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ ไม่เกะกะเกเร ไม่มีมารยาสาไถย เป็นผู้น่ารัก น่าเอ็นดู หรือน่าเคารพยำเกรง เมื่อบุคคลอื่นพบเห็นแล้ว ย่อมเกิดความคุ้นเคย รักใคร่เอ็นดู น่าคบหาสมาคมด้วย หรือน่าเคารพยำเกรง มีความรู้หรือข้อคิดความเห็นใด ๆ แล้วย่อมนำมาบอกสอน ตักเตือน ชี้แนะ หรือ แสดงข้อคิดความเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นต้น และบุคคลนั้นยอมรับฟังด้วยดี โดยเหตุผล ทำให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง สิ่งใดได้เคยฟังแล้วแต่ยังไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัดเจนขึ้น ย่อมบรรเทาความสงสัยสิ่งต่าง ๆ ได้ ย่อมทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้นไป และทำให้จิตใจผ่องใสขึ้น สามารถนำความรู้ที่ได้ยินได้ฟังมานั้นไปคิดพิจารณาให้รอบคอบว่า ผิดหรือถูก ควรหรือไม่ควร เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไร แล้วถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระ ละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระเสียได้ ทำตนให้มีสาระอยู่เสมอ ดำเนินชีวิตไปสู่หนทางที่ถูกต้องได้ เพราะฉะนั้น การตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ ที่เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลเกิดโยนิโสมนสิการได้

เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการทั้ง ๕ ประการนี้ สามารถเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน คือ เมื่อบุคคลได้ทำบุญไว้ในปางก่อน ที่เรียกว่า บุพเพกตปุญญตา แล้ว บุญนั้นย่อมชักนำบุคคลนั้นให้ได้เกิดในประเทศที่สมควร หรือให้ได้ไปอยู่ในสถานที่อันเหมาะสม ที่เรียกว่า ปฏิรูปเทสวาสะ เมื่อได้เกิดหรือได้อยู่ในสถานที่อันเหมาะสมแล้ว โอกาสที่จะได้พบเห็นสัตบุรุษก็มีได้มาก เพราะสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเลือกสถานที่อยู่ที่เหมาะสมเป็นปฏิรูปเทส เมื่อได้พบเห็นสัตบุรุษแล้ว ด้วยอัธยาศัยที่น้อมไปในสิ่งที่ดีงามที่ตนได้ทำบุญไว้ในปางก่อน ย่อมนิยมชมชอบในแนวทางความประพฤติปฏิบัติของสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเข้าไปคบหาสมาคม เข้าไปนั่งใกล้ เข้าไปอุปัฏฐากรับใช้ เข้าไปสนทนาปราศรัย แลกเปลี่ยนความรู้ สอบสวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมต่าง ๆ เป็นต้น ตามสมควรแก่ฐานะของสัตบุรุษนั้น ๆ ที่เรียกว่า สัปปุริสูปนิสสยะ เมื่อได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษดังกล่าวแล้ว ปกติของสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมแนะนำสั่งสอน หรือให้ข้อคิดความเห็นในทางที่ดีงาม สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ ด้วยอัธยาศัยที่เอื้อเฟื้อ ด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรม ปรารถนาประโยชน์และความสุขความเจริญแก่บุคคลอื่นเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นได้ฟังพระสัทธรรม ที่เรียกว่า สัทธัมมัสสวนะ เมื่อบุคคลนั้นได้ฟังพระสัทธรรมคำสอนที่ดีงาม ที่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรมแล้ว ย่อมได้รู้ได้เข้าใจว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ เป็นต้น ย่อมเกิดปัญญาพิจารณาเลือกถือปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร แล้วละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารเสีย ย่อมตั้งตนไว้ในทางที่ชอบประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ที่เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ ได้ ชีวิตของบุคคลนั้น ย่อมดำเนินไปในทางที่ดีงามได้ ย่อมยังประโยชน์ ๓ ประการให้สำเร็จได้ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ในโลกนี้ ๑ สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ในโลกหน้า ๑ และปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ๑


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |